ประวัติความเป็นมาไชยา
ประวัติศาสตร์เมืองไชยาระยะต่อจากนั้นก็เงียบหายไป จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2328 พม่ายกกองทัพมาซึ่งคนไทยรู้จักกันดีในชื่อสงคราม เก้าทัพ บุกเข้าตีเมืองชุมพร แล้วตีเรื่อยจนถึงเมืองไชยา พร้อมกับเผาเมืองเสียจนถาวรวัตถุเป็นซากปรักหักพังเหลือไว้เป็นอนุสรณ์
เมืองไชยาสมัยต่อมาได้ตั้งเมืองอยู่ริมทะเลที่พุมเรียง แม้ว่าผู้คนจะน้อยแต่ก็มีสภาพเป็นเมือง สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ เจ้าเมืองเป็นชาวบ้านไหน ก็จะตั้งเมืองที่นั่น ทำให้เมืองไชยามีที่ตั้งเมืองหลายแห่ง ครั้น 10 สิงหาคม พ.ศ.2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมาเยี่ยมพสกนิกรชาวเมืองไชยา ที่พุมเรียง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายู ดังนี้ “ พักอยู่ที่พลับพลาจนบ่าย 2 โมง จึงออกเดินไปตามถนนหน้าบ้านพระยาไชยา ผ่านหน้าศาลากลางไปเลี้ยวลงที่
วัดสมุหนิมิตและเข้าไปดูวัด พระสงฆ์ทั้งในวัดและวัดอื่นมานั่งรอรับอยู่ในศาลาอยู่ในศาลาเต็มทุกศาลา ได้ถวายเงินองค์ละกึ่งตำลึงบ้าง องค์ละบาทบ้างทั่วหน้ากัน แล้วออกเดินต่อไปตามท้องถนนท้องตลาด ตลาดเมืองไชยาไม่เป็นโรงแถวปลูกติดๆกันเหมือนเช่นเมืองสงขลา ซึ่งมีจีนแห่งใดมักจะเป็นโรงแถวติดๆกันเช่นนั้น แต่ที่ตลาดเมืองไชยาขายของหน้าเรือนหรือที่ริมประตูบ้านระยะห่างๆกัน มีผ้าพื้นบ้าง ผ้าขาวม้าราชวัตรบ้าง ยกไหมยกทองก็มี เป็นของทอในเมืองไชยา แต่ผ้าพื้นไม่มีมากเหมือนอย่างเมืองสงขลา มีขนมมีขายมาก ชื่อเสียงเรียกกันเพี้ยนๆกันไปกับที่เมืองสงขลา บ้านเรือนก็ดูหนาแน่น มีเรือนฝากระดานบ้าง แต่ตีรั้วหน้าบ้านโดยมาก ที่เกือบจะสุดปลายตลาดมีวัดโพธาราม เป็นวัดโบราณที่มีพระครูกาแก้วทองอยู่ พระอุโบสถหลังคาชำรุด ยังแต่ผนังมุงจากไว้ พระครูกาแก้วอายุ 80 ปี ตาไม่เห็น หูตึง แต่รูปร่างยังอ้วนพีเปล่งปลั่ง จำกาลเก่าได้มาก ปากคำอยู่ข้างจะแข็งแรง เรียบร้อย เป็นคนช่างเก็บของเก่าอย่างเช่น ผ้าไตรฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว มีผ้ากราบปักเป็นต้น ก็ยังรักษาไว้ได้และเล่าเรื่องราวในการงานที่มีที่กรุงเทพฯประกอบสิ่งของได้ด้วย เรียกชื่อคนทั้งชั้นเก่าชั้นใหม่เต็มชื่อเสียงแม่นยำ ได้สนทนากันก็ออกชอบใจจึงรับที่จะ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถซึ่งพระครูได้ตระเตรียมไว้บ้างแล้วนั้นให้สำเร็จ ได้มอบการให้พระยาไชยาเป็นผู้ทำ เพราะอิฐกระเบื้องเขามีอยู่แล้ว และได้ถวายเงินพระครูชั่งห้าตำลึง ข้างในเรี่ยรายกันเข้าในการปฏิสังขรณ์บ้าง เจ้าสายมาทำบุญวันเกิดที่วัดนี้ ได้ถวายเงินในการปฏิสังขรณ์สองชั่ง รวมเงินประมาณสี่ชั่ง ออกจากวัดเดินไปจนสุดตลาด ยังมีทางต่อไปอีกหน่อยจึงจะถึงทุ่งไชยา ตั้งแต่บ้านพระยาไชยาไปจนถึงทุ่งไชยาประมาณ 30 เส้น กลับโดยทางเดิมมาพักที่พลับพลา พระยาศักดิ์วามดิฐ เป็นผู้ช่วยพระยาไชยาจัดการเลี้ยงทั่วไป อยู่ข้างจะดีกว่าทุกแห่ง เวลา 5 โมงครึ่งกลับมาเรือ”
เมื่อ พ.ศ.2440 ก็จัดเขตการปกครองประเทศใหม่ ออกเป็นมณฑลจึงรวมเมืองไชยาเข้ากับเมืองชุมพร เมืองหลังสวน รวมเรียกว่ามณฑลชุมพร มีศาลาการตั้งอยู่ที่เมืองชุมพร ต่อมาปี พ.ศ.2442 ก็ประกาศรวมเมืองไชยาและเมืองกาญจนดิษฐ์เข้าเป็นเมืองเดียวกัน มีศาลากลางตั้งอยู่ที่บ้านดอนแล้วเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองไชยา” ส่วนที่พุมเรียงให้เรียก อำเภอพุมเรียง แต่ราษฎรก็ยังเรียกว่าเมืองไชยาอยู่ มิได้เรียกเมืองไชยาที่ตั้งที่บ้านดอนว่า เมืองไชยา จึงแก้ไขให้เรียกเมืองที่ตั้งที่บ้านดอนว่า “สุราษฎร์ธานี” และเปลี่ยนนามอำเภอพุมเรียงว่า “อำเภอเมืองไชยา”
ต่อมาปี พ.ศ.2478 ได้ย้ายที่ทำการ อำเภอเมืองไชยาจากที่ตั้งเมืองเก่า (พุมเรียง) มาตั้งที่บ้านดอนโรงทอง(ตำบลตลาดไชยา)จนถึงทุกวันนี้ และในปี พ.ศ.2480 ก็ได้เปลี่ยนอำเภอเมืองไชยา มาเป็น
“อำเภอไชยา” เพราะอำเภอที่เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเท่านั้นถึงจะเรียกว่า “อำเภอเมือง......”ได้ และต่อมาเมื่อมีการตัดทางรถไฟสายใต้ผ่านอำเภอไชยา การคมนาคมสะดวกขึ้น ผู้คนก็ได้เริ่มมาตั้งทำมาหากินอยู่ใกล้ทางรถไฟมาขึ้น กลายเป็นชุมชนใหญ่